แนะนำสาขา

สาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม : มุ่งผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะด้านอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ หลักสูตรมีความยืดหยุ่นรับผู้เข้าศึกษาต่อแบบ 4 ปี และแบบเทียบโอนจาก ปวส. รูปแบบการเรียนการสอนทั้งทฤษฎีควบคู่กับการปฏิบัติ มีการบูรณาการรายวิชาให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานอุตสาหกรรมในประเทศและการพัฒนาท้องถิ่น นอกจากนี้ยังสามารถเป็นผู้ประกอบการและสร้างโอกาสของผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 2 วิชาเอก คือ วิชาเอกเทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรม และวิชาเอกเทคโนโลยีการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยเรียนวิชาแกนร่วมกัน 45 หน่วยกิต สำหรับวิชาเอกมีความแตกต่างกันดังนี้

  • วิชาเอกเทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรม ผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถ ด้านการวางแผน การออกแบบ การจัดองค์การ การควบคุม การตรวจสอบ และการบำรุงรักษาในงานเทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรม เพื่อให้สามารถนำไปประกอบอาชีพได้อย่างประสิทธิภาพ
  • วิชาเอกเทคโนโลยีการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เน้นการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นแบบบูรณาการ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถทำงานในสถานประกอบการหรือเป็นผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของตนเองได้

โดยหลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม มาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ มาตรฐานอุดมศึกษา และมาตรฐานของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยนำรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบฐานสมรรถนะ (Competence- Based Learning) มาใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน และระบบทวิภาคี (Dual Systems) ซึ่งเน้นความร่วมมือในการเรียนการสอนร่วมกับสถานประกอบการอย่างเข้มข้นตามสมรรถนะชั้นปี โดยหลักสูตรได้ใช้แนวทางการจัดการศึกษาเชิงการบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน (Work-Integrated Learning: WIL) ซึ่งช่วยให้นักศึกษามีโอกาสในการประยุกต์ความรู้ ทักษะการทำงาน และทักษะเฉพาะที่สัมพันธ์กับวิชาชีพ ทั้งยังได้รู้จักชีวิตการทำงานที่แท้จริงก่อนสำเร็จการศึกษา ในการสร้างสมรรถนะให้กับนักศึกษาในแต่ละชั้นปี จะใช้สมรรถนะเป็นหลักในการออกแบบการเรียนการสอน (Competency–Based Education) และร่วมกับการจัดสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับทำงาน (Cooperative and Work Integrated Education) ที่มุ่งการผลิตและพัฒนากำลังคนคุณภาพในยุควิถีใหม่ (New Normal) เพื่อให้นักศึกษามีความสามารถในการนำความรู้จากห้องเรียนไปสู่ภาคปฏิบัติ ใช้ในการแก้ปัญหาได้จริงตามสถานประกอบการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องสร้างนวัตกรรมให้ได้อย่างน้อย 1 ชิ้นในการเรียนตลอดหลักสูตร นอกจากนี้ยังเป็นหลักสูตรร่วมผลิต โดยความร่วมมือกับสถานประกอบการ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี วิทยาลัยสารพัดช่างสุราษฎร์ธานี และวิทยาลัยการอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพนักศึกษา ตลอดจนโอกาสในการสร้างรายได้ระหว่างเรียนให้กับนักศึกษา